บทบาทหน้าที่ของครูในห้องเรียนมอนเตสซอรี่

ในห้องเรียนมอนเตสซอรี่นั้น ครูมีหน้าที่จัดเตรียมสิ่งแวดล้อมและสื่ออุปกรณ์ต่างๆให้พร้อมสำหรับเด็กอยู่เสมอ โดยพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ที่สำคัญต่างๆดังนี้

ห้องเรียนควรมีลักษณะ:

  • น่าอยู่
  • สวยงาม แต่ไม่ควรมีสีสันฉูดฉาดหรือประดับประดาเกินไป
  • เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการแยกแต่ละมุมไว้อย่างชัดเจน 
  • จัดเรียงสื่อและกิจกรรมต่างๆ ตามลำดับความยากง่ายและจากซ้ายไปขวา
  • จัดวางสื่อทุกชนิดไว้บนชั้นในระดับที่สายตาเด็กสามารถมองเห็นและหยิบมาใช้ได้ง่าย
  • จัดวางสื่อทุกชิ้นอย่างเป็นสัดส่วน ไม่หนาแน่นเกินไป หรือดูยุ่งเหยิงวุ่นวาย
  • จัดห้องให้เด็กสามารถมีพื้นที่ทำงานได้ทั้งบนโต๊ะและบนพื้น
  • เฟอนิเจอร์ทุกชิ้นควรเป็นของจริง มีน้ำหนักเบา และได้รับการบำรุงรักษาอยู่เสมอ
  • ควรระมัดระวังให้ห้องเรียนมีความปลอดภัยอยู่เสมอ

อุปกรณ์ควรมีลักษณะ:

  • มีความเหมาะสมตามวัย ทักษะ และความสนใจของเด็ก
  • มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชุมชนที่เด็กอาศัยอยู่
  • มีขนาดเหมาะสำหรับเด็ก
  • เป็นของจริง ไม่ควรใช้ของปลอมหรือของเด็กเล่น
  • สีสันสดใส สะอาด น่าสนใจและ ดึงดูดความสนใจของเด็ก
  • ครบสมบูรณ์ ไม่ชำรุดหรือขาดหาย ควรตรวจเช็คทุกวัน
  • จัดวางสื่อทุกชนิดแยกไว้ในแต่ละถาดอย่างชัดเจน
  • ถ้าเป็นไปได้ควรจัดให้มีระหัสสีอย่างชัดเจน
  • ถ้าเป็นไปได้ควรจัดให้มีตัวควบคุมความผิดพลาดไว้ด้วยเสมอ

การแนะนำ

               ทุกครั้งที่จัดเตรียมสิ่งแวดล้อม หน้าที่ของครูก็คือต้องพิจารณาและคำนึงถึงความต้องการของเด็ก ครูต้องเป็นผู้เชื่อมโยงเด็กกับสิ่งแวดล้อมโดยการเข้าใจความต้องการของเด็กและทำการแนะนำสื่อและกิจกรรมต่างๆให้กับเด็กด้วยความใส่ใจ

               ทัศนคติที่ครูมีต่อสื่อจะเป็นสิ่งที่เด็กรู้สึกถึงและซึมซับได้โดยง่าย ดังนั้นครูจะต้องดูแลและใส่ใจกับสื่ออุปกรณ์ต่างๆในห้องเรียน ใช้สื่อด้วยความเคารพรวมทั้งดูแลจัดการสิ่งแวดล้อมทุกอย่างในห้องเรียน ครูจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กอยู่ตลอดเวลา เพราะเด็กๆ เองนั้นก็อยากเห็นผู้ใหญ่รอบๆ ตัว ยกเก้าอี้ กล่าวขออภัย เดินอ้อมพื้นที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งทำความสะอาดสิ่งต่างๆด้วยเช่นกัน

               หากครูมีความเข้าใจเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ต่างๆ ของสื่อแต่ละชนิดอย่างลึกซึ้งแล้วละก็ ครูก็จะสามารถนำเด็กไปสู่การเลือกสื่อต่างๆได้อย่างถูกต้อง

               ดร.มาเรีย มอนเตสซอรี่ กล่าวว่า “ครูต้องรู้จักเลือกสื่อที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละคน และแนะนำด้วยวิธีการที่ทำให้สามารถเข้าใจและเกิดความสนใจในสื่อนั้นๆ ได้”

               ในห้องเรียนของมอนเตสซอรี่ เด็กจะได้รับการแนะนำการใช้สื่อด้วยวิธีการสาธิตให้ดูเป็นตัวอย่าง ครูจะค่อยๆ สาธิตการใช้สื่ออย่างละเอียด และเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้เด็กเห็นภาพได้อย่างชัดเจน จนสามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติเองได้

การสาธิตการใช้สื่อมีอยู่ 3 กรณี ดังนี้

1. การแนะนำพร้อมกันทั้งห้อง
2. การแนะนำกับเด็กเป็นกลุ่ม
3. การแนะนำกับเด็กเป็นรายบุคคล

                ครูต้องใช้วิจารณญานว่าจะสาธิตสื่อ ในกรณีใด โดยพิจารณาจากความต้องการของเด็ก ความเหมาะสม วัตถุประสงค์ และธรรมชาติของสื่อแต่ละชนิด

การแนะนำพร้อมกันทั้งห้อง

               เป็นการแนะนำสื่อหรือกิจกรรมใหม่ๆ หรือสำหรับเด็กที่เพิ่งเข้ามาเรียนเป็นครั้งแรก โดยครูจะสาธิตให้เด็กดูพร้อมกันทั้งห้องว่าสื่อแต่ละตัวมีวิธีการใช้อย่างไร เช่น ในช่วงกิจกรรมวงกลม เด็กจะได้รับการแนะนำเกี่ยวกับทักษะทางสังคม การกล่าวอำลา หรือควรกล่าวคำว่าขอโทษในสถานการณ์ไดบ้าง เป็นต้น

กิจกรรมการกล่าวลา

จุดประสงค์โดยตรง    

เพื่อให้เด็กเข้าใจถึงกล่าวลาและวิธีกล่าวลาที่ถูกต้องตามมารยาท

จุดประสงค์ทางอ้อม      

เพื่อให้เด็กมีความเชื่อมั่นและเป็นตัวของตัวเอง

หมายเหตุ       

การกล่าวลานั้นมีหลากหลายวิธีตามแต่วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของของวิธีการกล่าวลา ซึ่งจะสาธิตโดยการเคลื่อนไหวทีละขั้นตอนอย่างละเอียดและชัดเจน

การสาธิต         

(โดยทำที่ละขั้นตอนอย่างละเอียด ชัดเจน)

  • ขอให้เด็กออกมากลุ่มหนึ่งเพื่อร่วมแสดงพร้อกับนำเก้าอี้มาจัดเป็นวงกลม
  • กล่าวว่า “ เราจะมาฝึกการกล่าวลา”
  • ครูลุกขึ้น และชวนให้เด็กคนหนึ่งมายืนตรงกันข้าม
  • ยื่นมือขวาออกไปด้านหน้าด้วยท่าทีผ่อนคลาย ในระดับเดียวกับเด็ก
  • ขอให้เด็กยื่นมือขวาออกมา
  • ใช้มือขวาที่ยื่นออกไป จับมือขวาของเด็กที่ยื่นออกมา แล้วเขย่าขึ้นลงเบาๆอย่างนุ่มนวล
  • พร้อม กล่าวคำลา “ลาก่อน”
  • ปล่อยมือเด็ก
  • บอกให้เด็กกล่าว “ลาก่อน” เช่นกัน
  • ทำซ้ำเช่นเดียวกันนี้กับเด็กแต่ละคน

การแนะนำกับเด็กเป็นกลุ่ม

กิจกรรมนี้ครูเป็นคนดำเนินการกับเด็กกลุ่มเล็กๆเพื่อสาธิตกิจกรรมใดๆ เช่น การยกเก้าอี้ การยกโต๊ะ หรือการเดินบนเส้น

กิจกรรมการยกเก้าอี้

จุดประสงค์โดยตรง        

เพื่อสอนให้เด็กรู้จักวิธีการยกเก้าอี้ที่ถูกต้อง

จุดประสงค์ทางอ้อม            

  • เพื่อให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่
  • เพื่อให้เด็กได้พัฒนาการทำงานประสานสัมพันธ์ของอวัยวะต่างๆ
  • เพื่อฝึกให้เด็กมีความเป็นตัวของตัวเองและเกิดความมั่นใจ              
  • เพื่อให้เด็กได้ฝึกสมาธิ

อุปกรณ์                            

เก้าอี้สำหรับเด็กแต่ละคน

การแนะนำ(โดยการเคลื่อนไหวที่ละขั้นตอนอย่างละเอียด)

  • ชักชวนเด็กกลุ่มเล็กๆ ให้นำเก้าอี้มาและนั่งเป็นวงกลมใกล้ๆครู
  • กล่าวว่า “ ครูจะสาธิตวิธีการยกเก้าอี้ ให้ดูครูก่อน”
  • ครูยืนข้างเก้าอี้ โดยวางมือขวาจับหลังพนักพิง มือซ้ายจับขอบที่นั่งด้านหน้า
  • ยกเก้าอี้ขึ้น หลังตรง มองไปข้างหน้า
  • ค่อยๆ เดินยกเก้าอี้ไปด้านหน้า โดยระมัดระวังให้ขาเก้าอี้ชี้ตรงลงด้านล่าง
  • หยุด ค่อยๆ วางเก้าอี้ลงเบาๆ โดยย่อเข่าลง แล้วลุกขึ้น
  • นั่งลงบนเก้าอี้นั้น
  • ให้เด็กคนหนึ่งลองยกเก้าอี้ด้วยวิธีการเดียวกัน
  • ให้เด็กทุกๆคนในกลุ่มได้ฝึกยกเก้าอี้

การแนะนำกับเด็กเป็นรายบุคคล

กิจกรรมนี้ดำเนินการโดยครูกับเด็กเป็นรายบุคคล เช่น กิจกรรมการเท การขัดเงา การใช้ชุดอุปกรณ์กรอบไม้เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

กรอบไม้เครื่องแต่งกาย – กระดุมใหญ่

จุดประสงค์โดยตรง 

เพื่อสอนให้เด็กติดและแกะกระดุม

จุดประสงค์ทางอ้อม      

  • เพื่อพัฒนาการทำงานประสานสัมพันธ์ของมือและตา
  • เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อเคลื่อนไหว
  • เพื่อพัฒนาสมาธิ
  • เพื่อพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง
  • เพื่อพัฒนาความมั่นใจในตนเอง
  • เพื่อฝึกความมีระเบียบวินัยในตนเอง

อุปกรณ์                         

กรอบไม้เครื่องแต่งกายชุดกระดุมใหญ่

การแนะนำ(โดยการเคลื่อนไหวทีละขั้นตอนอย่างละเอียด)

  • ชักชวนให้เด็กตามไปที่ชั้นวางสื่อ
  • แนะนำให้เด็กรู้จักชื่ออุปกรณ์ และหยิบชุดที่จะสาธิตการติดกระดุม นำไปวางที่โต๊ะ
  • นั่งลงข้างๆเด็ก ทางฝั่งที่เด็กถนัด
  • วางกรอบไม้ไว้บนโต๊ะ เพื่อให้เด็กเห็นการสาธิตได้อย่างชัดเจน กล่าวกับเด็กว่า “นี่คือกรอบไม้เครื่องแต่งกาย กระดุมใหญ่  ครูจะทำให้ดูก่อนเสร็จ แล้วหนูจะได้ลองทำ”
  • เริ่มจากกระดุมเม็ดบนสุดก่อน โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือข้างที่ไม่ถนัดจับกระดุม
  • ใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มืออีกข้างที่ถนัดกว่าจับที่ขอบผ้า ใกล้ๆกับกระดุมเม็ดนั้น แล้วค่อยๆดันกระดุมให้เอียงผ่านรังดุมช้าๆ
  • ปล่อยมือจากกระดุมเมื่อดันผ่านรังดุมแล้ว
  • ปล่อยมือจากขอบผ้า
  • ทำขั้นตอนเช่นเดียวกันกับกระดุมเม็ดอื่นๆ ที่เหลือตามลำดับ
  • ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ของมือข้างที่ไม่ถนัดจับที่ขอบบนของผ้าฝั่งรังดุม ยกขึ้นและเปิดออกด้วยวิธีเดียวกันกับการเปิดหนังสือ
  • ใช้มืออีกข้างจับขอบผ้าฝั่งกระดุมแล้วเปิดออกด้วยวิธีการเดียวกัน
  • ตอนนี้แถบผ้าทั้งสองด้านเปิดอยู่และกระดุมก็แกะออกจากกัน ครูกล่าวกับเด็กว่า “ต่อไปครูจะติดกระดุมเข้าด้วยกันอีกครั้ง ดูครูนะ”
  • ครูหยิบแถบผ้าทั้งสองด้านทบเข้าด้วยกันเช่นเดิม  โดยพับฝั่งกระดุมเข้ามาก่อนแล้วตามด้วยฝั่งรังดุม โดยใช้เพียงนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือจับที่ขอบผ้าเช่นกัน
  • เริ่มติดจากกระดุมเม็ดบนสุดก่อน โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือข้างที่ถนัดจับผ้าฝั่งรังดุมใกล้ๆรังดุมรูบนสุดแล้วยกขึ้นนิดหนึ่ง เพื่อให้เห็นเม็ดกระดุมที่อยู่ด้านล่าง
  • ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้อีกข้างที่เหลือจับกระดุมแล้วค่อยๆเอียงสอดเข้ารังดุม
  • เมื่อสอดกระดุมเข้าไปได้ครึ่งทาง ให้ปล่อยนิ้วที่จับผ้าแล้วมาจับกระดุมครึ่งที่โผล่ขึ้นมา แล้วปล่อยมือที่จับกระดุมอยู่ด้านล่าง มาจับขอบรังดุมแทน แล้วค่อยๆดึงเม็ดกระดุมขึ้นมาให้หมด โดยขณะที่ดึงขึ้นมานั้นให้เอียงกระดุม แลดึงผ้าขอบรังดุมให้พ้นกระดุม
  • เมื่อกระดุมผ่านรังดุมมาทั้งเม็ดแล้ว ให้ปล่อยมือทั้งสองข้าง แบมือสักครู่ จากนั้นกดลงไปบนผ้าเพื่อให้แบน
  • ทำเช่นเดียวกันกับกระดุมเม็ดอื่นๆ ที่เหลือตามลำดับ
  • เมื่อติดกระดุมครบทุกเม็ดแล้ว ให้วางมือไว้บนตักแล้วมองดูผลงานสักครู่
  • ถามว่าเด็กอยากลองทำกิจกรรมนี้หรือไม่ ชักชวนให้เด็กลองทำกิจกรรม
  • เมื่อเด็กทำเสร็จแล้ว ให้เด็กนำอุปกรณ์ไปเก็บไว้ที่เดิม

ข้อแนะนำในการสาธิต

  • แนะนำเด็กโดยใช้วงจรกิจกรรม
  • สาธิตให้เด็กดูแต่ละขั้นตอนอย่างช้าๆ เพื่อให้เด็กเห็นทุกขั้นตอนของการเคลื่อนไหวอย่างละเอียด
  • ขณะสาธิตไม่ควรอธิบายหรือกล่าวคำใดๆ ควรสาธิตอย่างเงียบๆเพื่อไม่ให้เด็กเกิดความสับสน  และหากต้องการให้เด็กรู้จักคำศัพท์ก็ให้สาธิตอีกครั้ง พร้อมกล่าวคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กที่มีภาษาถิ่นแตกต่างกัน ได้รู้จักคำศัพท์ที่เป็นภาษากลาง
  • ถ้าเป็นไปได้ให้แยกทุกขั้นตอนอย่างละเอียด
  • พยายามดึงความสนใจของเด็กสู่จุดสำคัญของกิจกรรม
  • ถ้าเป็นไปได้ควรจัดให้มีตัวควบคุมความผิดพลาดด้วยเสมอ
  • แนะนำกิจกรรมจากง่ายไปสู่ยากตามลำดับ เพื่อให้เด็กได้เริ่มจากสิ่งที่รู้ไปสู่สิ่งที่ไม่รู้
  • พยายามดึงความสนใจของเด็กอยู่ตลอดเวลา
  • ไม่ควรแก้ไขข้อผิดพลาดใดๆให้เด็กขณะที่เด็กกำลังทำกิจกรรม หากเด็กยังทำไม่ได้ ก็ให้เก็บก่อน แล้วหาโอกาสทำกับเด็กอีกครั้งคราวต่อไปเมื่อเด็กพร้อมแล้ว
  • พยายามชักชวนให้เด็กลองทำกิจกรรมตามที่ได้รับการสาธิต และบอกให้เด็กนำอุปกรณ์นั้นมาทำอีกเมื่อไหร่ก็ได้ที่ต้องการ
  • เมื่อเด็กทำกิจกรรมใดๆได้จนชำนาญแล้ว  พยายามให้โอกาสเด็กได้ลองใช้ทักษะเหล่านั้น เช่น รินน้ำผลไม้ในช่วงพักทานของว่าง

วิธีการออกแบบกิจกรรม

  • คำนึงถึงความต้องการของเด็ก
  • ใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม ขนาดพอดีสำหรับเด็ก ไม่สูงหรือใหญ่จนเกินไป
  • เลือกอุปกรณ์ที่น่าสนใจและดึงดูดความสนใจของเด็กได้
  • ออกแบบกิจกรรมโดยจัดให้มีการเคลื่อนไหวจากซ้ายไปขวา
  • จัดให้มีตัวควบคุมความผิดพลาด
  • มีการสาธิตทุกขั้นตอนการเคลื่อนไหวอย่างละเอียด ชัดเจน
  • ฝึกวิธีการใช้จนชำนาญ
  • ออกแบบให้มีจุดสำคัญของกิจกรรม เพื่อให้เด็กสังเกต
  • คำนึงถึง ขั้นต่อไปหรือขั้นที่ยากขึ้น สำหรับเด็กโต
  • คำนึงถึงความต่อเนื่อง หรือการเชื่อมโยงของกิจกรรมนั้นๆกับ สื่ออื่นๆในห้องเรียน เช่น อาจเกี่ยวกับ วัฒนธรรม หรือวิทยาศาสตร์